นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ดวงตาอาจจะไม่ใช่อวัยวะสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิต แต่ดวงตานั้นเป็นอวัยวะสัมผัสที่สำคัญสามารถทำให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างครบถ้วน แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสนใจในดวงตา และไม่ได้นึกถึงว่าดวงตาทำงานอย่างไร ดวงตามีความผิดปกติอะไรได้บ้าง และดวงตามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างไร หากให้นึกถึงการตรวจสุขภาพร่างกายโดยทั่วไป จะมีน้อยคนที่นึกถึงเรื่องดวงตาก็มีความสำคัญที่จะต้องได้รับการตรวจด้วยเช่นกันจนกว่าจะมีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาเกิดขึ้นเสียก่อน
นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า คนทั่วไปรู้จักการตรวจสุขภาพกายโดยการตรวจความดันโลหิต ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด และตรวจร่างกายทั่วไป หลายคนคิดว่าตาไม่เป็นไรตราบที่การมองเห็นยังเป็นปกติ คงไม่ต้องตรวจก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะโรคตาบางโรคมาเงียบๆ ช่วงแรกอาจไม่มีอาการเลย โดยเฉพาะโรคต้อหินชนิดเรื้อรัง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบที่อาจทำให้ตาบอดได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แนะนำว่าควรตรวจสุขภาพตา ซึ่งสามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุ ไม่จำเป็นต้องตรวจตาตอนอายุมาก
แพทย์หญิงวธูกานต์ รุ่งภูวภัทร กล่าวเสริมว่า การตรวจสุขภาพโดยจักษุแพทย์มีความจำเป็น เนื่องจากหลายโรคทางตา หลายโรคอาจพบความผิดปกติได้จากการมาตรวจ เช่น
- ภาวะต้อหินในระยะแรกอาจไม่มีอาการตามัว เนื่องจากเป็นโรคที่มีการสูญเสียลานสายตาโดยรอบก่อนโดยการมองเห็นตรงกลางยังเป็นปกติ เว้นเป็นต้อหินระยะท้ายจึงมีการมองเห็นลดลง หรือลานสายตาแคบลง
- ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยที่ตาอีกข้างปกติดี และเพราะไม่เคยทดสอบการมองเห็นด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยการปิดตาทีละข้าง เพื่อทดสอบการมองเห็น ว่าความผิดปกติหรือไม่ เกิดขึ้นจากตาข้างใด จึงมาพบแพทย์เมื่ออาการเป็นมากแล้ว หรือมีความผิดปกติในตาทั้งสองข้าง
ซึ่งในการพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจการมองเห็นนั้น จะมีขั้นตอนโดยการทดสอบการมองเห็นทีละข้าง ถ้าผิดปกติต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคตาหรือเป็นจากสายตาผิดปกติ
แต่เนื่องจากในสภาวะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องจึงทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่อยากเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ยังมีภาวะทางจักษุบางอย่าง ที่เป็นอันตรายและอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้ จึงควรมาพบจักษุแพทย์ เช่น
1. อุบัติเหตุทางตาที่ก่อให้เกิดอาการระคายตา
• เคืองตา ตามัว
• เลือดออก
• สารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
• กระแทกตา
• อุบัติเหตุที่ใบหน้า เปลือกตาที่อาจส่งผลต่อดวงตา เป็นต้น
2. อาการปวดตามาก
ที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• การติดเชื้อที่กระจกตา เยื่อบุตา เบ้าตา ถุงน้ำตา
• ม่านตาอักเสบ
• ต้อหินฉับพลัน
3.เห็นจุดลอยใหม่หรือไฟแฟลชในตา
อาจเป็นจากภาวะน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ซึ่งมีการดึงรั้งจอประสาทตา อาจก่อให้เกิดจอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก หรือเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา
4.อาการตาแดง
ที่เกิดการ
• ติดเชื้อที่กระจกตา
• เยื่อบุตาอักเสบ
• ม่านตาอักเสบ
• ต้อหินฉับพลัน
• แผลที่กระจกตา เป็นต้น
5.การมองเห็นลดลงฉับพลัน
อาจเกิดจาก
• ต้อหินฉับพลัน
• จอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก
• เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาหรือจุดรับภาพ
• เส้นเลือดที่จอประสาทตาอุดตัน
• เส้นประสาทตาอักเสบ เป็นต้น
6.โรคทางตาที่ห้ามขาดยา
มีความจำเป็นจะต้องใช้อย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของจักษุแพทย์ เช่น
• โรคต้อหินที่ต้องรับยาหยอดตาต่อเนื่อง
• โรคจอประสาทตาที่ต้องฉีดยาเข้าน้ำวุ้นลูกตาต่อเนื่อง
ก็ควรไปตรวจติดตามการรักษา
อย่างไรก็ดี หากมีตาแดงที่สงสัยว่าเกิดจาก โควิด-19 (เช่น พบอาการตาแดงร่วมกับอาการทางทางเดินหายใจ ไข้ ผื่น) ให้ไปรักษาโควิด-19 ก่อนได้ เนื่องจากอาการทางตา พบได้น้อยกว่าอาการทางระบบทางเดินหายใจ และไม่รุนแรง หายเองได้
และเนื่องจากที่ระบุนั้น เป็นตัวอย่างของอาการทางตาด่วนที่พบได้บ่อย ทั้งนี้ให้ขึ้นกับวิจารณญาณของพยาบาลที่ทำการคัดกรองหรือแพทย์ที่รับปรึกษา ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้อื่นร่วมด้วย