ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เกิดจากอะไร

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) คือเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) หรือ Human Herpes Virus Type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด งูสวัด

โรคอีสุกอีใส
พญ.พรทิพ วิชญานรัตน์ กุมารแพทย์รพ.วิภาดี
 
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox)  คือเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) หรือ Human Herpes Virus Type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด งูสวัด
 
อาการ 2 ลักษณะสำคัญของโรค
 
1.  เด็กที่เป็นจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด อาจจะมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้
 
2.  จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มเหล่านี้จะขึ้นตามไรผมก่อนแล้วกระจายไปตามใบหน้าและลำตัว แผ่นหลัง บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย จะเกิดอาการเจ็บคอ  ระยะเวลาของโรค จากเริ่มมีตุ่มจนเป็นสะเก็ด ประมาณ 6-7 วัน
 
 
อาการแทรกซ้อน
 
โดยทั่วไป ผื่นจากอีสุกอีใสจะหายโดยไม่มีแผลเป็น  ยกเว้นมีการติดเชื้อ แบคทีเรียแทรกซ้อน จะทำให้ผื่นกลายเป็นหนอง และมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้ออาจจะกระจายเข้าไปในกระแสเลือด  ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ได้รับยารักษามะเร็ง หรือได้ยา สเตอรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายใน เช่น สมอง ปอด และตับได้
 

การติดต่อ
 
โดยการสัมผัส ถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าไปทางเยื่อเมือก  ระยะฟักตัว 10-20 วัน
 

การรักษา
 
อีสุกอีใสถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่รุนแรงในเด็กแต่มักจะเป็นโรคที่หายเองได้ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้น้องๆหนูๆต้องขาดเรียน เพราะเป็นโรคที่ติดต่อถึงผู้อื่นได้  การรักษาจะรักษาตามอาการ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ยา พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรใช้ แอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ จนทำให้ถึงตายได้
 
การปฏิบัติตัว
 
-  ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด  ตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา
 
-  การให้ยาต้านไวรัส เพื่อให้ได้ผลดีควรให้รับประทานยาภายใน 24 – 48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้น
 
เรื่องควรรู้ 
 
1.  โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มีโอกาสเป็นงูสวัดได้ ในภายหลังประมาณร้อยละ 15% เพราะจะ มีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาทของร่างกาย (Dorsal North Ganglia)
 
2.  ควรแยกผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดต่อ โดยระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชม. ก่อนที่มีผื่นและตุ่มจะแห้งหมดใช้เวลา 6 – 7 วัน
 
3.  ไม่มีอาหารที่ต้องห้าม สามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่าง
 
4.   ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว แต่เนื่องจากวัคซีนยังมีราคาค่อนข้างสูงสำหรับประเทศไทย จึงยังไม่กำหนดให้เป็นวัคซีนภาคบังคับ แต่มีข้อแนะนำสำหรับเด็กที่จะฉีดวัคซีน คือสามารถ เริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ฉีด 1 เข็ม และปัจจุบันแนะนำให้ฉีดกระตุ้นอีกเข็ม ตอนอายุ 4 – 6 ปี ถ้าฉีดตอนอายุเกิน 12 ปี ให้ฉีด 2 -เข็ม ห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์ การฉีดวัคซีนให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หลังจากฉีดวัคซีนใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิต้านทาน
 
ผลข้างเคียงของวัคซีน   วัคซีนมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่อาจจะทำให้มีไข้, ร้อนแดงตรงตำแหน่งที่ฉีดพบได้ร้อยละ 5 บางรายอาจมีผื่นคล้ายผื่นอีสุกอีใสแต่ไม่รุนแรงประมาณร้อยละ 3-4
 
 
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน 

ลดอัตราการเกิดโรคอีสุกอีใสและลดอัตราการเกิดโรคงูสวัด
 
ข้อห้าม 

 ห้ามฉีดวัคซีนในหญิงมีครรภ์ ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ หลังฉีดควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนหลังจากฉีดยา ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดไม่ควรฉีดในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่
 
 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
แผนกกุมารเวชรพ.วิภาวดี
โทร. 0-2561-1111 กด 1

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด