การวินิจฉัยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
การวินิจฉัยเบื้องต้นที่ทำให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ คือ อาการที่คนไข้มาเล่าให้แพทย์ฟัง ประกอบกับการตรวจภายใน พบว่ามีก้อนเนื้อหรือมีอาการเจ็บ หรือลักษณะเหมือนมีพังผืด ด้านหลังของมดลูก และที่เส้นเอ็นของมดลูก
การตรวจขั้นต่อไป เพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น คือ การทำ ultrasound และการตรวจที่แน่นอนที่สุดคือการทำส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ เอามาพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา
การได้มองเห็นรอยโรค (lesion) จากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง (คือการทำแผลเล็ก ๆ ตรงสะดือ แล้วสอดกล้องเข้าไปส่องดูอวัยวะในช่องท้อง) จะทำให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากที่สุด
การทำ อัลตร้าซาวนด์ และการทำผ่าตัดส่องกล้อง (laparoscopy) มีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกจากโรคที่เป็นมะเร็ง (เช่นมะเร็งรังไข่) ด้วย และแยกจากโรคอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เช่น อักเสบในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูก มดลูกเจริญผิดรูป ยังไม่มีวิธีพิสูจน์โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยการเจาะเลือด
มีวิธีการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อย่างไร
โรคนี้สามารถรักษาได้โดยทางยา และทางผ่าตัดแล้วแต่จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาอะไรให้คนไข้ ได้แก่ เรื่องปวด เรื่องเลือดประจำเดือนผิดปกติ เรื่องมีบุตรยาก หรือเรื่องถุงเลือดรังไข่ (chocolate cyst) หรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อย่างอื่น
การรักษารอยโรคให้เล็กลงหรืออาการน้อยลง
มียาหลายชนิดที่ทำให้รอยโรคหรือแผลเป็นจากโรคนี้ลดขนาดลง ลดปฏิกิริยาของร่างกายลง ได้แก่
1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
จะช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อลงทั้งในมดลูกและนอกมดลูก ที่นิยมใช้คือ ยาฉีดคุมกำเนิดและยารับประทานคุมกำเนิด (ยารับประทานมีเอสโตรเจนอยู่ด้วย) ยาฉีดคุมกำเนิดทำให้อาการลดลงได้ แต่อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ หรือทำให้ไม่มีประจำเดือน ยารับประทานทำให้มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอแต่น้อยลง เมื่อเลิกยาก็หมดฤทธิ์ไป
2. Danazol
ทำให้ไม่ตกไข่ มีฮอร์โมนมาเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยลง เยื่อบุมดลูกฝ่อลง อาการดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงคือประจำเดือนมาผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน และที่สำคัญคือทำให้มีขนขึ้นผิดปกติ มีเสียงใหญ่ขึ้นแบบผู้ชาย (กรณีการมีเสียงใหญ่ขึ้น เมื่อเลิกยาเสียงก็ไม่เปลี่ยนกลับอย่างเดิม) ไขมันในเลือดผิดปกติและอาจเป็นอันตรายต่อตับ ปัจจุบันคาดว่าสูตินรีแพทย์ไม่ใช้ยานี้แล้ว
3. ยา Gonadotropin-releasing agonist (GnRHagonist)
เป็นยาลดฮอร์โมนที่มากระตุ้นรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน จึงไม่มีฮอร์โมนรังไข่ เกิดภาวะและมีอาการเหมือนวัยหมดประจำเดือน ทำให้เยื่อบุมดลูกยุบตัวเล็กลงเพราะไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้น ผลค้างเคียงจึงเป็นแบบเดียวกับคนหมดประจำเดือน คือ หงุดหงิด ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง กระดูกบางลง เป็นต้น ยานี้มีทั้งชนิดฉีดและพ่นจมูก ปกติถ้าแพทย์ใช้ก็ใช้แบบเป็นการชั่วคราว ไม่รักษาระยะยาว
4. การผ่าตัด
คือ การตัดเอารอยโรคหรือส่วนที่เป็นโรคออกไป ปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องช่องท้องมากที่สุด เพราะได้ผลดี พังผืดน้อย เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว (แต่ค่าใช้จ่ายจากการใช้เครื่องมือพิเศษนี้ยังแพงกว่าผ่าตัดธรรมดา) จุดประสงค์ของการผ่าตัดก็เพื่อให้อวัยวะภายในกลับสู่สภาพปกติมากที่สุด ทำลายรอยโรคที่มองเห็นออกให้มากที่สุด ผลการรักษาแบบผ่าตัดธรรมดาและผ่าตัดส่องกล้องมีคุณภาพพอ ๆ กัน
การรักษาเพื่อลดอาการปวด
แพทย์มักแนะนำเริ่มต้นที่ยาแก้ปวด ได้แก่ Paracetamol หรือ NSAID เช่น Brufen หรือ Ponstan หรือยาอื่นๆ ประเภทเดียวกัน รับประทานเวลาปวดหรือเมื่อเริ่มปวดก็ทานยาเลย ทำให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้มีสรรพคุณลดอาการปวดแต่ไม่ได้รักษาโรค ยาประเภทยาเม็ดคุมกำเนิดก็แก้ปวดประจำเดือนและแก้ประจำเดือนผิดปกติได้เช่นกันและอาจระงับการลุกลามของโรคได้บ้าง ยาฉีดคุมกำเนิดก็ได้ผลคล้ายกันแต่ทำให้ไม่มีประจำเดือนหรือบางคนมีเลือดประจำเดือนผิดปกติได้ อีกระดับหนึ่งคือการผ่าตัดผ่านกล้องโดยมีแผลเล็กๆที่หน้าท้องวิธีนี้มีประโยชน์ในแง่ที่ให้การวินิจฉัยที่แน่นอนและรักษาพร้อมกันไปเลยเหมาะกับคนที่โรคเป็นมากมีอาการมาก เกิดมีก้อนที่มดลูกหรือมีช็อกโกแลตซิสต์ที่รังไข่และคนที่มีปํญหามีบุตรยาก การรักษาวิธีนี้โดยผู้ชำนาญได้ผลดีแลโอกาสเป็นซ้ำได้น้อย
การรักษาเพื่อแก้ไขปัญหามีบุตรยาก
เมื่อโรคที่เป็นรุนแรงมีพังผืดยึดอวัยวะต่าง ๆ ทั้งมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ และการมีท่อนำไข่อุดตัน การรักษาที่ดีขึ้น คือ ผ่าตัดเข้าไปทำลายรอยโรคและพังผืด และแก้ไขความผิดปกติของอวัยวะ และแม้รอยโรคมีน้อยแต่ก็เป็นสาเหตุมีบุตรยากได้ด้วย
สรุป
เรายังไม่ทราบสาเหตุของการเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบได้ 3-18 % ในสตรีทั่วไป เมื่อเป็นแล้วอาจไม่มีอาการหรือทำให้มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น ปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ มีบุตรยาก การรักษามีทั้งทางยาและผ่าตัดแล้วแต่จุดประสงค์และปัญหาของผู้ป่วย การแก้ปัญหาเรื่องปวด ได้ผลใกล้เคียงกันโดยการใช้ยาหรือผ่าตัด แต่ถ้าใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น การผ่าตัดก็เป็นทางออกต่อไป
การผ่าตัดได้ผลต่อการแก้ไขปัญหามีบุตรยาก และมีวิวัฒนาการผ่าตัดมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หลังจากการผ่าตัดช่วยเพิ่มความสำเร็จมากขึ้น
นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงค์ธีระกุล แพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก รพ.วิภาวดี